ประวัติความเป็นมาของสถานีตำรวจภูธรสะเดา จังหวัดสงขลา

เรื่องเล่าตราครุฑ

                 สำหรับตราครุฑ เริ่มใช้มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังพ.ศ. 2436เป็นต้นมา มีใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจแห่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติ และใช้แทนตราแผ่นดินไทย

         มีรูปภาพเก่ายืนยันทำให้สันนิษฐานได้ว่า น่าจะนำมาติดตั้งเพื่อระบุเขตมณฑลนครศรีธรรมราชหลังจากสยามเสียดินแดน ‘สี่รัฐมาลัย’ (เมืองกลันตัน เมืองตรังกานู เมืองไทรบุรี และเมืองปลิศ) ให้เป็นของอังกฤษ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2451(นับตามปฏิทินสยาม – ถ้านับตามปฏิทินสากล ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม 2452 )

         ว่ากันเรื่อง สี่รัฐมาลัย คือดินแดนส่วนหนึ่งในประเทศมาเลเซียปัจจุบันที่เคยเป็นของส่วนหนึ่งสยาม ก่อนจะถูกอังกฤษยึดโดยการล่าอาณานิคม สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากที่ไทยเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอักษะ และญี่ปุ่นครอบครองดินแดนมาเลเซียได้แล้ว ญี่ปุ่นได้มอบดินแดนส่วนนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย โดยภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ไทยต้องคืนดินแดนส่วนนี้ให้กับอังกฤษ

         ข้อมูลระบุว่า เดิมทีสะเดาอยู่ในเขตเมืองไทรบุรีขึ้นกับมณฑลไทรบุรี (การกำหนดมณฑลในสมัย ร.5) การแบ่งปันเขตแดนขณะนั้น พื้นที่ของเมืองไทรบุรีส่วนหนึ่งยังคงอยู่กับอาณาเขตสยาม นั่นคือตั้งแต่บ้านหัวถนนไปจนถึงพรมแดน ด่านนอก ระยะทางถนนประมาณ 18 กม. ดินแดนส่วนนี้จึงถูกผนวกเข้ากับมณฑลนครศรีธรรมราช

          ตราครุฑ (พร้อมชื่อมณฑล) น่าจะนำมาติดตั้งหลังการประกาศตั้งอำเภอสะเดา ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2452 ขณะนี้ตราครุฑได้รับการบูรณะและนำมาติดตั้งหน้าอาคารหลังใหม่ของ สภ.สะเดา แล้ว(เมื่อ14ต.ค.2560) และจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการบอกเล่าเรื่องราวของเมืองสะเดาต่อไป

ขอบคุณภาพ/ข้อมูล : นิธิ อนันตพงศ์